2 Step to Start! เปิดประตูสู่โลกออนไลน์ด้วย Domain & Hosting
เคยสงสัยมั้ยกันมั้ยคะ? ถ้าเราอยากจะมีเว็บไซต์ของตัวเองสักเว็บนึง นอกจากการเขียนเว็บขึ้นมาแล้ว ในขั้นตอนของการนำเว็บขึ้นเพื่อ Public เป็นออนไลน์ให้เหล่าสาธารณะชนเข้ามาใช้งานเว็บเราได้เนี่ย ปกติเค้ามีขั้นตอนยังไงกันบ้างนะ
ขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์จริง…
ตัวผู้เขียนเองก็เคยอยากมีเว็บของตัวเองค่ะ สมัยก่อนใครๆก็อยากมีเว็บของตัวเองเนอะ อาจจะไม่ใช่เว็บที่อลังการแบบ Alibaba หรือ Pantip อะไรขนาดนั้น แต่ตัวผู้เขียนเองอยากทำ ‘Web Portfolio’ ขึ้นมาเองค่ะ คือเป็นเว็บที่เก็บ resume ออนไลน์ของเรา (สมัยเรียนใครมีคือคูลมากๆ) ก็เลยไปศึกษาวิธีการเขียนเว็บแบบต่างๆมา จนกระทั่งเขียนเสร็จ
คำถามต่อมาคือ…. จะไปทำให้เว็บมันออนไลน์ยังไงได้บ้าง?
ถึงตอนนี้เส้นเลือดสมองเริ่มตึงละค่ะ เพราะพอ Search หาใน Google ผู้ให้บริการก็เยอะมาก
แล้วก็งงมากว่าอะไรคือโดเมนเนม จดยังไง จดทำไม จดแล้วต้องทำไงต่อ ซื้อ Hosting เลยไม่ได้หรอ..
จากปัญหาที่ตัวเองเจอ และจากที่เพื่อนๆของผู้เขียนเองสอบถามเข้ามาบ่อยครั้ง (คือเพื่อนก็อยากมีเว็บพอทคูลๆแบบเราบ้าง อิอิ) ก็เลยเกิดเป็นบทความนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยให้ทุกคนเข้าใจว่าการนำเว็บขึ้นออนไลน์นั้นมีขั้นตอนยังไงบ้างในรูปแบบ 2 Step ง่ายๆที่เราต้องรู้ในการ Publishing Website ของเรา ตัวผู้เขียนเองก็ขอให้ผู้อ่านได้สาระดีๆจากบทความนี้ไม่มากก็น้อยนะคะ
Before Start!
โดยปกติแล้ว นักพัฒนาหรือเหล่าโปรแกรมเมอร์ จะเขียนเว็บ หรือเขียนเว็บแอปพลิเคชันต่างๆ บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวของตัวเองค่ะ ซึ่งนั่นหมายความว่า การจะเข้าเว็บนั้น จะต้องเข้าผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ของโปรแกรมเมอร์คนนั้นเท่านั้นค่ะ
ทีนี้… สิ่งแรกที่โปรแกรมเมอร์ต้องทำภายหลังจากพัฒนาเว็บเสร็จแล้ว คือการทำให้เว็บไซต์นั้นเข้าถึงได้จากทุกๆที่ ก็คือทำให้มัน Public เพื่อออกสู่สายตาของสาธารณะชนนั่นแหละค่ะ การจะทำแบบนั้นได้ ต้องพึ่ง 2 องค์ประกอบหลักดังนี้ค่ะ
ชื่อ : Domain Name ( www.domain.com , www.domain.co.th , etc….)
ที่ตั้ง : Hosting ( Shared Host , Cloud Hosting , etc..)
ตอกป้ายติดหน้าร้าน! ด้วย Domain Name
ชื่อที่จะทำให้ผู้คนค้นหาคุณเจอ!
ทุกคนเคยทำแบบนี้กันอยู่แล้วใช่มั้ยคะ ทุกครั้งเวลาเราอยากจะเข้าไปค้นหาอะไรสักอย่าง เราก็จะพิม www.google.com หรือเวลาจะเข้าไปหากระทู้เด็ดๆอ่าน เราก็จะพิมพ์ www.pantip.com เวลาจะอัพเดทข่าวต่างๆวันนี้เราอาจจะพิมพ์ www.kapook.com พวกชื่อ google.com , pantip.com , kapook.com เหล่านี้เราเรียกว่า Domain Name นั่นเองค่า แต่ก่อนจะมาเป็น Domain Name เหล่านี้ เขามีขั้นตอนอย่างไรกันมาก่อนบ้าง ไปดูกันค่ะ
วิธีการคือ
- เข้าไปเช็ค Domain Name ที่เราต้องการจะใช้ ว่ามีคนใข้งานแล้วหรือยัง ที่ website https://whois.net/ (หรือ https://th.godaddy.com/ ก็ได้ค่ะ เพราะเป็นภาษาไทยน่าจะเข้าใจง่ายกว่า เมื่อเช็คเสร็จแล้วสามารถซื้อได้เลย)
- เลือกระยะเวลาการจดโดเมนด้วย จะเป็นปีหรือสิบปีก็ว่าไป โดเมนเนี่ย…ไม่ใช่ว่าซื้อแล้วชื่อนั้นจะเป็นของเราตลอดกาล โดยเราสามารถเลือกได้ว่าจะจองชื่อนี้กี่ปีโดยใช้ชื่อใครจอง อันนี้เป็นประเด็นที่ต้อง concern และตกลงกันให้ชัดเจน ในกรณีให้คนอื่นจดโดเมนให้ หรือจ้างให้คนอื่นทำเว็บให้ค่ะ
- เลือกราคา เพราะแต่ละโดเมนราคาถูกแพงไม่เท่ากันค่ะ บนโลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่าการจองโดเมนไว้ขายต่อ ฉะนั้น อย่าไป Search บนเว็บหา domain บ่อยๆ เพราะเว็บเหล่านี้อาจจะมีทริคโกงเล็กน้อยเก็บไว้ว่าเราสนใจโดเมนนี้ และแอบซื้อเก็บไว้รอปล่อยต่อ เมื่อเรามาดูอีกทีอาจจะเห็นว่าราคาขึ้นไปแล้ว T_T
ประเภทของ Domain Name
แบ่งได้เป็น 2 ประเภท
- โดเมน 2 ระดับ ชื่อโดเมน . ประเภทของโดเมน
เช่น .com(บริษัท หรือ องค์กรพาณิชย์) .gov(องค์กรของรัฐบาล) .edu(สถาบันการศึกษา) - โดเมน 3 ระดับ ชื่อโดเมน . ประเภทของโดเมน . ประเทศ
เช่น .co.th(บริษัทประเทศไทย) .go.th(รัฐบาลประเทศไทย) .co.uk(บริษัทประเทศอังกฤษ)
“แต่หลักๆที่เราใช้กันทั่วไปเลยก็คือ .com นั่นเองค่ะ เพราะถือว่าจำง่ายสุดแล้ว”
อย่าเพิ่งสับสนกันนะคะ!
หลายคนยังมีความเชื่อผิดๆอยู่คือ จดโดเมนเนมปุ้บ จบละไชโยโห่ฮิ้วว~ จริงๆคือไม่ใช่แบบนั้นนะคะ โดเมนเนมเหมือนเป็นแค่การแปะป้ายชื่อร้านไว้ที่หน้าร้านของคุณเฉยๆเพื่อให้ลูกค้าหาเจอ แต่พอเปิดประตูเข้าไป เราจะยังไม่เจออะไรเลย จนกว่าจะคุณจะเอาของมาวาง มาตกแต่งในร้านของคุณ การนำของไปวางให้คนเปิดร้านเข้ามาเจอ สิ่งนั้นคือ ‘Hosting’ ที่เรากำลังจะพูดถึงในข้อถัดไปค่ะ
แล้วถ้าคิดชื่อไม่ออกอะ ไม่จดได้มั้ย?
เมื่อเราเช่า Hosting อะไรก็ตามแต่ สิ่งที่เราได้มาจะเป็นแค่ Name Server (NS) เท่านั้นค่ะ (แต่บางที่ก็แถม Domain Name ฟรีให้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องแยกส่วนกันอยู่ดีค่ะ คือจดแล้วเอามาผูกกัน) คือเป็นชื่อของ Server เป็นตัวเลขเยอะๆ ซึ่งแน่นอนว่ามันดูไม่คูลเลยเนอะ จำก็ยาก ลำพังแค่จำเบอร์โทรตัวเองยังยากเลยค่ะ เปรียบเทียบแบบให้เห็นภาพง่ายๆได้แบบนี้ค่ะ
ถ้าไม่จด เวลาคนที่จะเข้าเว็บไซต์เรา ต้องใช้ NS มาค้นหาแบบนี้ค่ะ
แต่ถ้าจด Domain Name ไว้ ก็ค้นหาโดยใช้ชื่อโดเมนนั้นได้เลยค่ะ
ฉะนั้น… การจดย่อมดีกว่าแน่นอนค่ะ เพราะทำให้ง่ายต่อการจดจำขึ้นเยอะเลยทีเดียว หรือหากใครคิดว่าอยากทดลอง public ให้คนอื่นลองดูก่อน ก็สามารถใช้ตัว NS เพื่อให้เขาเข้ามาดูเว็บเราไปก่อนก็ได้ค่ะ แต่ก็ไม่แนะนำเท่าไร แต่จริงๆเรื่องชื่อ Domain Name เนี่ย …ไว้พอคิดออกแล้วมาจดทีหลังก็ได้ค่ะ ก็ระวังเรื่องโดนชิงจดตัดหน้าแค่นั้นเอง
หาที่วางของ อวดสายตาประชาชี
ด้วย Hosting แบบต่างๆ
ต้องบอกก่อนว่า การหาที่วางของ หรือวางเว็บไซต์ของเรา ก็มีที่วางหลากหลายแบบให้เลือกเช่นกันค่ะ มีทั้งแบบฟรี และแบบไม่ฟรี ในบทความนี้ขอไม่กล่าวถึงแบบฟรีนะคะ
ในส่วนของ Hosting ตอนนี้ ก็มีผู้ให้บริการเยอะแยะมากมาย แต่เชื่อว่าหลายคนยังงงๆอยู่ว่าตัวเองควรจะเลือกใช้ Hosting แบบไหน ถึงจะเหมาะกับการใช้งานของเว็บตัวเองที่สุด เพราะฉะนั้นในบทความนี้ ขออธิบาย Concept คร่าวๆ และคุณสมบัติหลักๆ ตั้งแต่ Web Hosting แบบเดิมๆ ไปจนถึง Cloud Hosting ที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูงที่สุดในขณะนี้ เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้ลองไปพิจารณาดูอีกทีว่าควรจะเลือกใช้บริการ Hosting ประเภทไหนให้เหมาะสมกับเว็บไซต์ของตัวเองที่สุดค่ะ
Shared Hosting
ราคาถูกที่สุดและนำไปเว็บไปวาง เพื่อใช้งานได้ง่ายสุด (เนื่องจากมีการติดซอฟต์แวร์สำเร็จรูปบางตัวไว้ให้แล้ว)
ใน Server หนึ่งเครื่องจะแชร์ทรัพยากรร่วมกันหมด เว็บไซต์เราจะถูกวางในที่เดียวกับเว็บไซต์อื่นๆ นั่นหมายความว่า หากมีเว็บไซต์ใดในนั้นเกิดขัดข้องขึ้นมา หรือมีการเข้าใช้งานมากเกินไป ก็จะส่งผลให้เว็บไซต์ของเราล่มตามไปด้วย และตัว Server นั้นต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนตัวใหม่ ส่งผลให้อาจกินเวลาไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมงในการซ่อมแซม
วิธีการติดตั้ง:
ผู้ให้บริการจะติดตั้งให้
เหมาะกับเว็บแบบไหน:
เว็บ Content , เว็บ Blog , เว็บ Portfolio หรือเว็บที่ไม่ต้องรองรับโหลดจำนวนเยอะๆ หรือทำงานหนักมาก เน้นให้มีคนทยอยเข้าใช้งานเรื่อยๆ และเจ้าของเว็บต้องสามารถรับความเสี่ยงหากเว็บล่มเป็นเวลานานได้
– –
Dedicated Hosting
ราคาแพงสุด เพราะเป็นการจองเครื่อง Server เต็มๆไปเลย 1 เครื่อง สำหรับผู้ที่ต้องการใช้งานทรัพยากรเยอะๆ และไม่ต้องการแชร์ทรัพยากรร่วมกับใคร แต่ก็ยังต้องรับความเสี่ยงกรณี Server ทำงานหนักเกินจน Server Down เช่นกัน
วิธีการติดตั้ง:
ผู้ใช้ต้องมีความรู้ด้านเทคนิคในการติดตั้งเอง
เหมาะกับเว็บแบบไหน:
สำหรับเว็บแอพพลิเคชัน หรือเว็บสำหรับองค์กร เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงสุด เสี่ยงน้อยกว่าแบบอื่นๆ แต่ก็มีราคาที่แพงสุดเช่นกัน
– –
VPS Hosting
ราคากลางๆ เป็นการจำลองเซิร์ฟเวอร์เสมือน(VM) บนเครื่อง Server ที่ให้บริการอีกที โดยจะกั๊กส่วนของทรัพยากรตามที่เราเช่าเอาไว้ เมื่อมี VM อื่นๆในระบบพัง จะไม่กระทบกับ VM ของเราที่วางอยู่ที่ Server ตัวเดียวกันเหมือนกับ Shared Hosting (เว้นแต่ Server ตัวที่รัน VM นั้นจะพัง)
แม้ลักษณะดูเผินๆจะคล้ายๆกับ Dedicated Server แต่ประสิทธิภาพไม่ดีเท่า เนื่องจากในเซิร์ฟเวอร์เครื่องนั้นๆ ยังคงมีการแบ่งพื้นที่ และทรัพยากร กับลูกค้าอื่นๆ ดังนั้นประสิทธิภาพยังคงด้อยกว่า Dedicated server อยู่ดี
วิธีการติดตั้ง:
ผู้ใช้ต้องมีความรู้ด้านเทคนิคในการติดตั้งเอง
เหมาะกับเว็บแบบไหน:
เหมาะกับเว็บที่มีผู้ใช้งานมาก ช่วยลดปัญหาเว็บช้าเวลามีผู้เข้าใข้งานเยอะ จุดเด่นคือมี Data Transfer ไม่จำกัด ดีกว่า Shared Hosting แต่ไม่เท่า Dedicated Hosting ค่าใช้จ่ายจึงอยู่ที่ระดับกลางๆ
– –
Cloud Hosting
จริงๆแล้วคำว่าระบบ Cloud มันคือ Concept ของการวางระบบ Infrastructure สำหรับองค์กร ไว้ที่ Data Center ของผู้ให้บริการ (สำหรับองค์กรที่ต้องการระบบ Infrastructure แต่อาจจะไม่สะดวกในการสร้าง Data Center เอง) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ บริการคลาวด์ (cloud) คืออะไร โดยในบทความนี้จะขอกล่าวถึงการนำระบบคลาวด์มาใช้ในแง่ของการวางเว็บไซต์ของเราเท่านั้นนะคะ
– High Availability! –
ในส่วนของตัวโครงสร้างการทำงานของระบบคลาวด์นั้นมีวิธีการจัดการทรัพยากรภายในระบบที่ดีมาก ทำให้ระบบฆ่าไม่ตาย ยิงไม่เดี้ยงง่ายๆ เนื่องจากมีการทำ Server Farm เอาไว้ด้วยกัน ในกรณีที่มีเครื่องใดเครื่องหนึ่งพัง ระบบจะทำการย้ายให้ไปทำงานในเครื่องใหม่ทันที โดยไม่ต้องรอเปลี่ยน หรือรอให้เครื่องเก่าซ่อมเสร็จก่อน ทำให้คุณไม่ต้องเสียเวลารอเลย และเว็บไซต์ของคุณก็จะสามารถทำงานต่อไปได้ไม่สะดุด หรือจะเรียกว่าเป็น Zero Downtime ก็ว่าได้
– Scalability & only Pay-Per-Use! –
การเลือกใช้บริการแบบ Cloud Hosting จะทำให้เรามีอิสระในการปรับขีดความสามารถ และขนาดทรัพยากรได้ตามภาระงาน เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดในการขยายทรัพยากรสำหรับผู้ให้บริการ และค่าใช้จ่ายนั้นจะขึ้นกับการจ่ายตามที่ใช้จริง (Pay-Per-Use) เช่น พอถึงเวลาที่เรารู้ว่าคนจะกระหน่ำเข้าใข้งานเว็บเราเยอะๆช่วงไหน ก็ไปเพิ่มทรัพยากรแค่เฉพาะช่วงนั้นได้เลย และสามารถที่จะเลือกเช่าแบบระดับชั่วโมงก็ได้
Web Hosting vs Cloud Hosting
คำถามโลกแตกที่ปัจจุบันก็ยังมีหลายคนไม่เข้าใจค่ะ ว่าคลาวด์ต่างกับเว็บโฮสติ้งทั่วไปยังไง จะเปลี่ยนมาใช้ก็ยังงงงวย ว่าแล้วมันได้ประโยชน์อะไรเพิ่ม ขอเปรียบเป็นภาพง่ายๆแบบนี้ค่ะ
ขอเปรียบเทียบกันง่ายๆแบบนี้ค่ะ
Web Hosting เหมือนคนคนเดียวทำงาน ถ้าคนนั้นป่วย งานก็จะหยุดทันที
ส่วน Cloud Hosting คือคนหลายคนช่วยกันทำงาน ถ้ามีคนใดคนนึงป่วย
ก็จะมีคนอื่นๆที่เหลือทำงานแทนให้ งานก็จะเดินต่อไปได้ไม่มีสะดุดค่ะ
ควรเลือกใช้อะไรถึงจะดีที่สุด?
ตรงนี้ผู้เขียนมองว่าอยู่ที่ ‘ลักษณะของเว็บไซต์’ และ ‘งบประมาณ’’ ของเรามากกว่าค่ะ ว่าเหมาะกับการใช้งาน Hosting ลักษณะไหน แน่นอนว่าตอนนี้ Cloud คือตัวเลือกที่ดีที่สุดแน่นอน ด้วยคุณสมบัติที่อัพเกรดขึ้นมาเยอะแยะมากมาย แต่แน่นอนว่าบางคนอาจจะมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ หากยังไม่เห็นภาพ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเป็น Case Study ง่ายๆกันดีกว่าค่ะ
- เว็บธนาคาร -> ควรเลือก Cloud ค่ะ ต้องการความ Secure และความมั่นคงสูง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงินล้วนๆ
- เว็บคอนเทนต์ -> จะเลือกเป็น Web Hosting ถ้าแค่ทำบล็อคขำๆ คนทยอยเข้าไม่เยอะ หรือจะเลือกเป็น Cloud ก็ได้ค่ะ หากต้องการรับโหลดเยอะๆ คนเข้าอ่านพร้อมกันได้มหาศาล
- เว็บพอตโฟลิโอ (portfolio) -> ใช้ Web Hosting จะเหมาะสมที่สุดค่ะ เพราะไม่ได้ให้คนเข้าอ่านพร้อมๆกัน ใช้แค่ตอนให้คนอื่นๆเข้ามาดูผลงานตัวเอง
สุดท้ายแล้ว…. การจะเลือกใช้ Hosting รูปแบบไหนนั้น ผู้เขียนอยากให้คำนึง ‘ความเหมาะสม’ มากที่สุดก็พอค่ะ เพราะมันไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ทุกอย่างสามารถพลิกแพลงใช้ด้วยกันได้หมดเลย แต่ถ้าหากมีงบเยอะหน่อยการเลือกใช้ Cloud ถือว่าเป็นการ Play Safe ที่สุดแล้วในตอนนี้
ซึ่งทาง OpenLandscape เองก็เป็นผู้ให้บริการคลาวด์อีกหนึ่งทางเลือกในประเทศไทย
ที่ให้บริการคลาวด์ด้วยราคาเริ่มต้นที่ถูก รองรับกับทุกระดับการใช้งาน
หรือหากต้องการปรึกษาก่อน ก็สามารถที่จะติดต่อสอบถามได้เลยค่ะ
แต่ถ้าคุณสนใจดูข้อมูล หรือราคาค่าบริการ สามารถดูได้เลยค่ะที่ https://openlandscape.cloud/
ติดตามข่าวสารใหม่ๆ หรือข้อมูลน่ารู้อีกมากมายได้ที่
OpenLandscape Fanpage | https://www.facebook.com/openlandscapecloud/
OpenLandscape Twitter | https://www.twitter.com/olscloud/
OpenLandscape Cloud | https://openlandscape.cloud/
จบการศึกษาจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ พระจอมเกล้าลาดกระบัง
มีความสนใจด้านเทคโนโลยี และมีความเชื่อว่า หากเราสามารถวางตัวเอง
ให้ก้าวทันเทคโนโลยีอยู่เสมอจะช่วยให้เราได้พัฒนาทั้งชีวิตของตนเอง
ครอบครัว และยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้