FRONT END , BACK END , FULL STACK คืออะไร มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ?
รู้หรือไม่ สายงานโปรแกรมเมอร์ยอดนิยมในขณะนี้คืออะไร !?
แน่นอนว่าในวงการโปรแกรมเมอร์ ย่อมมีหลากหลายสายงานที่น่าสนใจ โดยผลการสำรวจความนิยมสายงานโปรแกรมเมอร์ของ Stack Overflow ในปี ค.ศ. 2022 พบว่า
- อันดับ 1 ในสายงานที่ได้ใจสายโปรแกรมเมอร์ไปครองเลยคือ “Full Stack Developer” หรือ นักพัฒนาโปรแกรมหน้าบ้านและหลังบ้าน
- อันดับ 2 คือ “Back End Developer” นักพัฒนาโปรแกรมหลังบ้าน
- อันดับ 3 คือ “Front End Developer” นักพัฒนาโปรแกรมหน้าบ้าน
สำหรับใครที่เพิ่งเริ่มต้นเขียนโปรแกรมได้ไม่นาน อาจสงสัยว่าทั้งสามสายงานนี้ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง OpenLandscape ได้รวบรวมข้อมูลมาให้คุณได้เข้าใจให้มากขึ้นได้แล้วที่บทความนี้
เนื่องจากเว็บไซต์และแอปพลิเคชันนั้นมีการเติบโตที่ค่อนข้างซับซ้อน จำเป็นต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผู้พัฒนาจึงต้องมีความเชี่ยวชาญให้มากขึ้นอยู่เสมอ โดยการพัฒนาเว็บไซต์ในที่กล่าวมานี้ หมายถึงสิ่งต่าง ๆ มากมายที่มักขึ้นอยู่กับสิ่งที่นักพัฒนาเว็บไซต์มีความเชี่ยวชาญด้วยกัน 3 ประเภทหลักได้แก่
- Front End Developer ผู้พัฒนาโปรแกรมในส่วนของหน้าบ้าน (ส่วนที่ทุกคนสามารถมองเห็นได้ของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน)
- Back End Developer ผู้พัฒนาโปรแกรมในส่วนของหลังบ้าน (ส่วนของการทำงานเบื้องหลังจำพวก ฐานข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน)
- Full Stack Developer ผู้พัฒนาอย่างเต็มรูปแบบทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน ถือเป็นความเชี่ยวชาญที่ลงตัวของทั้ง 2 ตำแหน่ง โดยสามารถนำไปใช้กับ Web Stack, Mobile Stack หรือ Native Application Stack แอปพลิเคชันดั้งเดิม เช่น โปรแกรมซอฟต์แวร์สำหรับอุปกรณ์เฉพาะ เป็นต้น
เพื่อให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจว่า นักพัฒนาเว็บไซต์ของแต่ละประเภทมีความเชี่ยวชาญอย่างไรบ้าง หรือในกรณีที่นักพัฒนา Full Stack ต้องการเป็นผู้ชำนาญที่เชี่ยวชาญมากขึ้น ต้องเพิ่มทักษะในเรื่องอะไรบ้าง
OpenLandscape ได้จัดทำหัวข้อเพื่อแยกข้อมูลทั้งหมดออกมาให้ทุกคนได้อ่านกันง่ายขึ้น พร้อมบอกทักษะที่คุณต้องเรียนรู้ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมกับการเป็นนักพัฒนาด้านต่าง ๆ ในแบบที่คุณต้องการได้ ดังนี้
นักพัฒนา FRONT END คืออะไร ?
นักพัฒนา Front End คือ นักพัฒนาโปรแกรมในส่วนด้านหน้าที่มองเห็นได้ทันทีของหน้าเว็บไซต์ หรือ ที่หลายคนเรียกติดปากกันว่า “หน้าบ้าน” นั่นเอง โดยผู้ใช้งานสามารถมองเห็น และโต้ตอบร่วมกันภายในเว็บเบราว์เซอร์ได้
ในส่วนของหน้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันบนมือถือ เป็นส่วนที่ผู้ใช้สามารถมองเห็น และโต้ตอบได้โดยตรง ถูกสร้างขึ้นด้วยภาษาทั่วไปที่ต้องรู้ และทักษะที่จำเป็นสำหรับนักพัฒนา Front End ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- HTML
- CSS
- JavaScript
- Version Control/Git
- Responsive Design
- Testing / Debugging
- Browser Developer Tools
- Building and Automation Tools / Web Performance
- Command Line
HTML (Hypertext Markup Language) เรียกได้ว่าเป็นกระดูกสันหลังของเว็บไซต์เลยทีเดียว โดยทุกเว็บไซต์ที่คุณเข้าไปเยี่ยมชมนั้นล้วนถูกสร้างขึ้นด้วย HTML มีหน้าที่ดูแลโครงสร้าง และเนื้อหาทั้งหมด เป็นภาษาที่ใช้ Tag ในการกำหนดการแสดงผลของหน้าเว็บเพจที่ต่างก็เชื่อมถึงกันใน Hyperspace ผ่าน Hyperlink นั่นเอง
ส่วน HTML5 คือ HTML ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่ให้เป็นปัจจุบันบนหน้าเว็บไซต์ โดยถึงแม้ว่าเว็บไซต์ที่สร้างด้วยเวอร์ชันเก่าจะยังทำงานได้ดีบนเบราว์เซอร์ของคุณ แต่การพัฒนาให้ทำงานได้สะดวกและง่ายมากขึ้น มักทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าเสมอ โดย HTML5 ยังถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นภาษามาร์กอัป (Markup language) สำหรับ WWW รุ่นต่อไปของ HTML
CSS (Cascading Style Sheets) หรือ “สไตล์ชีท” เป็นสิ่งที่ควบคุมลักษณะการแสดงผลของ HTML บนหน้าเว็บไซต์ โดย CSS สามารถกำหนดสี, แบบอักษร, ภาพพื้นหลัง และแม้กระทั่งวิธีการจัดวางตำแหน่งบนหน้าเว็บให้เกิดความสวยงาม โดยคุณสามารถใช้ CSS เพื่อจัดเรียงองค์ประกอบ HTML บนหน้าเว็บไซต์ได้ตามที่คุณต้องการ แม้ว่าจะแตกต่างจากลำดับที่จัดเรียงไว้ใน HTML ไฟล์ก็ตาม ส่วน CSS3 คือ CSS ที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นปัจจุบันบนเว็บไซต์ และเพิ่มคุณสมบัติมากมายสำหรับสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การโต้ตอบพื้นฐานและภาพเคลื่อนไหว เป็นต้น
ตอนนี้คุณสามารถสร้างเว็บไซต์ด้วย HTML และ CSS แต่ยังจำเป็นต้องใช้ร่วมกับ JavaScript ที่เป็นเหมือน Game changer หรือกล่าวง่าย ๆ คือ JavaScript สามารถช่วยให้ผู้พัฒนาสร้างเว็บเพจได้ตรงตามความต้องการ และมีความน่าสนใจได้มากกว่าเก่า เพิ่มความสามารถในการโต้ตอบภาพเคลื่อนไหวที่มีความซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้น และยังทำให้คุณสามารถสร้างเว็บแอปพลิเคชันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนได้ดียิ่งกว่าเดิมหลายเท่าเลยทีเดียว
หากลองย้อนกลับไปในวันเก่า ๆ เช่น ปี ค.ศ. 2012 เว็บเบราว์เซอร์เคยอธิบายความหมายผิด ๆ ของ JavaScript ไว้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการเพิ่มฟังก์ชันการทำงานที่ซับซ้อนด้วย JavaScript ไม่ได้เป็นความคิดที่ดีเสมอไป แต่เบราว์เซอร์นั้นจะมีประสิทธิภาพที่มากขึ้น หากทำงานร่วมกับ JavaScript สิ่งที่เคยถูกสงวนไว้สำหรับภาษาการเขียนโปรแกรมของ “Back end” และ JavaScript นั้นสามารถพัฒนาด้วยตัวของมันเองได้ อีกทั้งยังรวมถึงการสร้าง Frameworks เช่น AngularJs, jQuery, NodeJS เป็นต้น
Version Control / Git คือ ระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับการติดตาม, การตรวจสอบ, การพัฒนา และการแก้ไข Source Code ต่าง ๆ ซึ่งในขั้นตอนการพัฒนา สามารถตรวจสอบได้ทุกตัวอักษร ทุกบรรทัด ทุกไฟล์ ที่มีการแก้ไข รวมถึงระบุได้ว่าใครเป็นคนแก้ไข และแก้ไข ณ วันที่เท่าไหร่ เพื่อดูข้อผิดพลาดโดยที่ไม่ต้องกลับไปเริ่มต้นทำใหม่ทั้งหมด
Responsive Design คือ เทคนิคการออกแบบเว็บไซต์แบบใหม่ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนขนาดของเว็บไซต์ให้เหมาะสมกับการแสดงผลบนหน้าจอขนาดต่าง ๆ รวมถึงความละเอียดของหน้าจอในอุปกรณ์ที่แตกต่างกัน เช่น คอมพิวเตอร์, โน้ตบุ๊ค, โทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันเว็บไซต์ถูกใช้งานบน Device และขนาดหน้าจอที่หลากหลาย การพัฒนาเว็บไซต์จึงควรคำนึงถึงการแสดงผลบนหน้าจอที่แตกต่างกัน ซึ่ง Responsive Design เป็นหลักการออกแบบที่ทำให้เว็บไซต์ของคุณสามารถรองรับการใช้งานได้จากทุกหน้าจอ จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญสำหรับนักพัฒนา Front End
Testing / Debugging Bugs คือ สิ่งที่นักพัฒนาทุกคนต้องทำอยู่เสมอ เพราะคุณจำเป็นต้องทดสอบโค้ดเพื่อค้นหา Bug สำหรับลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นบนเว็บไซต์ ดังนั้นการ Test และ Debug จึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญที่ควรมี
Browser Developer Tools คือ เครื่องมือต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับ Web browsers ให้คุณได้เลือกใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการทดสอบและปรับแต่งหน้าเว็บไซต์ของคุณผ่าน Browser ได้โดยตรง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการแสดงผลของหน้าเว็บไซต์จะตรงกับความต้องการของคุณ
Building and Automation Tools / Web Performance คือ การเขียนโค้ดเพื่อสร้างเว็บไซต์ที่ยอดเยี่ยมขึ้นมา โดยไม่ทำให้เว็บไซต์นั้นทำงานล่าช้า ซึ่งโปรแกรม Webpack สามารถช่วยลดขนาดไฟล์ CSS, JS หรือไฟล์รูปภาพ และทำให้เว็บไซต์ของคุณทำงานได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
Command Line คือ รูปแบบการแสดงผลแบบ Text Mode โดยหน้าโปรแกรมจะรับ Input ทีละบรรทัดและหาความหมายของคำสั่งนั้น เพื่อสั่งให้ระบบปฏิบัติการ (OS) ทำตามคำสั่งนั้นต่อไป โดยปกติสามารถใช้ Graphic User Interfaces หรือ GUI ได้ แต่บางครั้งนักพัฒนาจำเป็นต้องใช้ Command Line เพราะเป็นอีกหนึ่งเรื่องพื้นฐานสำหรับนักพัฒนา
กล่าวโดยสรุปแล้ว Front End หรือ นักพัฒนาโปรแกรมในส่วนของหน้าบ้านมักใช้ HTML, CSS และ JavaScript รวมถึงอื่น ๆ เพื่อเขียนโค้ดเว็บไซต์ในการทำงาน โดยสายงานนี้เป็นคนที่ทำการออกแบบ และสร้างเว็บไซต์สำหรับการใช้งาน ในบางเว็บไซต์อาจสร้างขึ้นด้วย HTML, CSS และ JavaScript เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามเว็บไซต์อื่น ๆ ยังมี Code ที่ซ่อนอยู่ในส่วนของ Back End เพื่อเพิ่มหรือปรับปรุงส่วนหน้าของเว็บไซต์ได้นั่นเอง
นักพัฒนา BACK END คืออะไร ?
นักพัฒนา Back End คือ นักพัฒนาโปรแกรมในส่วนของ “หลังบ้าน” หรือการทำงานเบื้องหลังของส่วนต่าง ๆ ในเว็บไซต์ที่ผู้ใช้งานไม่สามารถโต้ตอบได้โดยตรง มีหน้าที่จัดการข้อมูลที่ “หน้าบ้าน” ต้องการและส่งไปให้ รวมถึงการออกแบบ Database ให้เก็บข้อมูลและดึงข้อมูลมาใช้ให้เร็วที่สุดได้ โดยส่วนใหญ่จะเลือกส่งผ่าน API (Application Programming Interface) และทักษะที่จำเป็นสำหรับนักพัฒนา Back End มีดังนี้
- มีทักษะด้าน Web Developer (Javascript, CSS, HTML5, jQuery)
- มีความรู้พื้นฐานในด้าน Package Management Tool เพื่อใช้สำหรับจัดการ Library/Dependency ต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในระบบ ซึ่งแต่ละภาษาใช้เครื่องมือที่แตกต่างกัน
- มีความสามารถในการเขียนการทดสอบอัตโนมัติ เช่น Unit Test, Integration Test, API Test, Component Test และ End-to-End Test
- มีความรู้ในด้าน RESTful API เป็น Interface ที่ระบบคอมพิวเตอร์ 2 ระบบใช้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย
- มีความรู้ในด้าน Database เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อระบบหลังบ้าน เช่น Relational Database, Non Relational Database, Hierarchical Database เป็นต้น
- มีความรู้ในด้าน Web Server และ Application Server เพื่อเลือกใช้งาน Server ได้เหมาะสมกับงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- มีความรู้ในด้าน Container เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาและติดตั้งระบบงาน เช่น Docker และ Kubernetes
- มีความรู้ในด้าน Caching เพื่อรู้ลักษณะข้อดีและข้อเสีย แล้วนำมาปรับใช้งานได้อย่างเหมาะสม
นั่นจึงทำให้การทำงานของ Front End และ Back End นั้นมีหน้าที่แตกต่างกัน ในขณะที่การทำงานในส่วนของ Front End คือ ทำทุกอย่างให้ผู้ใช้สามารถมีส่วนร่วมโต้ตอบได้โดยตรง ส่วน Back End นั้นจะทำงานที่อยู่เบื้องหลัง และมีข้อได้เปรียบที่มากกว่า Front End เพราะมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในเรื่องเฉพาะทางนั้นเอง โดย Back End จำเป็นต้องใช้ภาษา Programming ในการทำงาน ซึ่งภาษา Programming นั้นมีมากมาย ยกตัวอย่างเช่น
- PHP
- Ruby
- Python
สิ่งหนึ่งที่คุณควรทราบ คุณอาจไม่เห็นรายชื่อจำนวนมากที่แสดงตำแหน่งสายงานที่แจ้งว่า บริษัทกำลังมองหา “นักพัฒนา Back End ” แต่คุณจะพบรายการที่แจ้งว่าทางบริษัทกำลังมองหา “นักพัฒนา Ruby” หรือ “นักพัฒนา PHP” ฯลฯ เป็นต้น เนื่องจากภาษาการเขียนโปรแกรมนั้น มีแค่นักพัฒนาที่รู้ว่ามันคือกุญแจสำคัญที่เหมาะสมกับงานชนิดใดบ้าง
ดังนั้นในส่วนของ Back End เท่าที่คุณสามารถทำได้ด้วยดีจากภาษา Programming คุณจะไม่สามารถทำได้ด้วย JavaScript เพราะมันเป็นส่วนเฉพาะที่มีข้อจำกัดมากกว่า โดยมีความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่ง ได้แก่ ระบบการจัดการเนื้อหาส่วนใหญ่ สร้างจากภาษาการเขียนโปรแกรมของ Back End เช่นเดียวกับเว็บแอปพลิเคชันขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน JavaScript อาจประสบปัญหาในเรื่องประสิทธิภาพของการทำงาน เช่น เกิดความล่าช้า หรือ พบข้อบกพร่องขึ้นได้ และในบางกรณี คุณสามารถใช้ JavaScript เพื่อสร้างทุกอย่างที่คุณออกแบบได้ บางครั้งยังมีวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่านั้น ด้วยการเรียนรู้ Code ที่จะช่วยสอนให้คุณค้นหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะ และบางครั้งสิ่งเหล่านี้หมายถึงการใช้ภาษาของ Back End นั่นเอง
โดยทั่วไปแล้วนักพัฒนา Back End ส่วนใหญ่จะทำงานร่วมกับนักพัฒนา Front End เพื่อทำให้ Code ทำงานในการออกแบบเว็บไซต์ หรือการออกแบบแอปพลิเคชัน รวมถึงการปรับแต่งการออกแบบนั้นเมื่อจำเป็น ซึ่งในที่สุดแล้วก็มาถึงหัวข้อสุดท้ายของ Full Stack
นักพัฒนา FULL STACK คืออะไร ?
นักพัฒนา Full Stack คือ นักพัฒนาเว็บอย่างเต็มรูปแบบทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน หรือวิศวกร (Engineer) ที่ทำงานร่วมกับนักพัฒนา Front End และ Back End ของเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน ซึ่งหมายความว่านักพัฒนา Full Stack สามารถจัดการโครงการที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลและสร้างเว็บไซต์ที่รองรับผู้ใช้บริการ หรือแม้แต่ทำงานกับผู้รับบริการในช่วงการวางแผนสร้างโครงการต่าง ๆ
Full Stack หรือ นักพัฒนาเว็บเต็มรูปแบบ มีคุณสมบัติดังนี้
- มีความชำนาญด้าน HTML, CSS, JavaScript และภาษา Programming อย่างน้อย 1 ภาษาหรือมากกว่าขึ้นไป
- นักพัฒนา Full Stack ส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญในภาษาการเขียนโปรแกรม Back End โดยเฉพาะ เช่น Ruby หรือ PHP และ Python แม้ว่าบางทีนักพัฒนา Full Stack จะทำงานเป็นนักพัฒนามาระยะหนึ่งแล้ว หรือ ทำงานมาได้มากกว่าหนึ่งงาน โดยทั่วไปแล้วในสายงานนี้มักจะมีชื่อเรียกที่เข้าใจกันว่า “นักพัฒนา Ruby เต็มรูปแบบ” หรืออะไรที่คล้ายกัน เป็นต้น
- นักพัฒนา Full Stack ที่ดีต้องมีการเรียนรู้ทั้งการจัดการ บริหารโครงการใดโครงการหนึ่งให้สมบูรณ์แบบอยู่เสมอ รวมถึงมีการจัดวาง การออกแบบภาพรวม หรือการออกแบบเว็บไซต์ให้ออกมาดีที่สุด และมีทักษะ รวมถึงประสบการณ์ร่วมกับผู้ใช้เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม มุ่งไปสู่ความสำเร็จในแบบที่คุณต้องการ
ในเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่สามารถทำได้ในส่วนของ Front End และส่วนของ Back End ที่ยังไม่ชัดเจนนั้น นักพัฒนาส่วนมากกลายมาเป็นสิ่งที่ทุกคนเรียกกันว่า “Full Stack” ซึ่งนายจ้างจำนวนมาก โดยเฉพาะเอเจนซี่ที่ทำงานในไซต์ประเภทต่าง ๆ ล้วนมองหานักพัฒนาที่รู้วิธีการทำงานในทุกส่วนของเว็บไซต์เพื่อให้มั่นใจได้ว่า สามารถเลือกผู้เชี่ยวชาญที่ดีที่สุดสำหรับงาน โดยที่ไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นงานเฉพาะด้านเทคนิคฝ่าย Front End หรือ ฝ่าย Back End หรือไม่ ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า นักพัฒนา Full Stack มักเป็นที่ต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของบริษัทต่าง ๆ ตามไปด้วยนั่นเอง
ซึ่งในปัจจุบันนี้หลายคนเป็นจำนวนมากคิดว่า นักพัฒนา Full Stack ไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดทั้งหมดของเว็บไซต์ด้วยตัวเอง ซึ่งนักพัฒนา Full Stack ส่วนมากใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเขียนโค้ดทั้งด้าน Front End และ Back End ของไซต์ทั้งหมดต่างหาก แต่ประเด็นคือ นักพัฒนา Full Stack จำเป็นต้องรู้ให้เพียงพอเกี่ยวกับการเขียนโค้ดทั้งหมด ซึ่งนักพัฒนา Full Stack สามารถทำการค้นคว้าได้จากทุกแหล่ง หากจำเป็นและนักพัฒนา Full Stack บางคนเขียนโค้ดเว็บไซต์ทั้งหมดรวมทั้งด้าน Front End และ Back End แต่มักเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีที่นักพัฒนา Full Stack ทำงานอิสระหรือเป็นนักพัฒนาเพียงคนเดียวที่ทำงานในโครงการนั้น
นักพัฒนาเว็บ FULL STACK คืออะไร ?
นักพัฒนา Full Stack อาจทำให้หลายคนเกิดความสับสน เนื่องจากวิธีการเรียกชื่อของสายงานนี้หรือวิธีการที่ปรากฏขึ้นในรายชื่องาน โดยบางครั้งคุณจะเห็นชื่อตำแหน่งว่า Full Stack Developer หรือ Full Stack Web Developer ซึ่งล้วนแล้วต่างมีความหมายเหมือนกันทั้งสิ้น และบางครั้งอาจมีการเรียกด้วยชื่อ Full Stack Engineers เช่นกัน
ซึ่งในลำดับต่อไปนี้จะมีการอธิบายความแตกต่างระหว่างนักพัฒนา Full Stack และ วิศวกร Full Stack ให้ได้ทราบ แต่ก่อนอื่นมาดูความหมายของ Full Stack หรือนักพัฒนา Full Stack กันก่อนดีกว่า
Full Stack Developer หรือ นักพัฒนา Full Stack ซึ่งรวมถึงโครงการใด ๆ ที่คุณกำลังทำงานอยู่ รวมถึงกำลังเริ่มสร้างขึ้น ทั้งด้าน Front End และ Back End ของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันในเวลาเดียวกัน โดยพื้นฐานแล้ว คือ โครงการพัฒนาเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ทั้งนักพัฒนาในส่วน Front End และ Back End แต่สำหรับนักพัฒนา Full Stack แล้วรับบทบาทเป็นแทนทั้งคู่เลยนั่นเอง
ความแตกต่างต่างระหว่าง FULL STACK DEVELOPER และ FULL STACK ENGINEER ?
Full Stack Engineer หรือ วิศวกร Full Stack เป็นบทบาทระดับสูง สำหรับคนที่มีทักษะของนักพัฒนา Full Stack แต่มีประสบการณ์การจัดการโครงการในสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชำนาญ เช่น การบริหารระบบ, การกำหนดค่า, การจัดการ, การดูแลรักษาเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
หากคุณดูตัวอย่างของงานวิศวกร Full Stack ที่มีการระบุไว้บนเว็บไซต์ คุณจะพบว่าตำแหน่งเหล่านี้มักเกิดจากประสบการณ์การพัฒนาเว็บ Full Stack อย่างน้อย 3 – 5 ปี เนื่องจากต้องมีความสนใจในการกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอ มุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือผู้คนให้เรียนรู้ทักษะการใช้งานของเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี โดยทุกคนมักจะคาดหวังไปที่ตำแหน่งนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในระดับที่สูงขึ้น แต่งานวิศวกร Full Stack มักเป็นบทบาทสูงสุดที่ทุกคนต้องการหลังจากใช้เวลาทำงานในสายงานนี้มาระยะหนึ่งนั่นเอง
นักพัฒนา FULL STACK ต้องมีทักษะไหนกันบ้าง ?
โดยทั่วไปคุณจะเห็นการผสมผสานของทักษะด้าน Front End และ Back End ที่มีอยู่ในรายการผู้พัฒนาเว็บ Full Stack รวมถึง
- มีความเชี่ยวชาญด้าน HTML, CSS, JavaScript
- มีความเชี่ยวชาญด้าน Front End Framework อย่างน้อย 1 รายการขึ้นไป เช่น ReactJS หรือ Angular เป็นต้น
- ภาษา Programming เช่น Ruby, PHP, Python เป็นต้น
- มีประสบการณ์ในการออกแบบ, วางแผน, ติดตั้ง, ควบคุมและดูแลรักษาระบบฐานข้อมูล
- มีความเชี่ยวชาญด้าน Version Control เช่น Git
- มีความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องความปลอดภัย
- มีความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับเว็บไซต์หรือการออกแบบภาพรวมของงาน รวมถึงสร้างแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้
คุณควรเป็นนักพัฒนาสายไหน ?
มาถึงจุดนี้คุณอาจกำลังตั้งคำถามกับตัวเองว่าควรเลือกสายงานไหนดี หากคุณอยากพัฒนาโปรดักส์หรือทำโปรเจกต์ด้วยตัวเองและชื่นชอบส่วนงานทั้งของ Front End รวมถึง Back End การเป็น Full Stack อาจเป็นคำตอบที่ใช่ แต่ว่าการจะเป็น Full Stack นั้นต้องใช้เวลาในการฝึกฝนและสะสมประสบการณ์อยู่หลายปี เพื่อที่จะเรียนรู้ส่วนงานที่มีความต่างกันอย่างมากอย่าง Front End และ Back End ให้เชี่ยวชาญเสียก่อน
ดังนั้นในขั้นตอนแรก คุณอาจเริ่มเติบโตจากสายงานใดสายงานหนึ่งเสียก่อนระหว่าง Front End หรือ Back End โดยเลือกตามความถนัดและความชื่นชอบ เมื่อคุณเริ่มมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในระดับหนึ่งแล้ว ค่อยเริ่มเรียนรู้ส่วนงานของอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อสั่งสมประสบการณ์เป็น Full Stack ได้ในอนาคต
แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าการเรียนส่วนงานของอีกสายไม่ใช้สิ่งที่คุณชอบ เช่นคุณเชี่ยวชาญในด้าน Front End แต่ไม่ค่อยชอบการทำ Back End คุณสามารถเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ในสาย Front End ให้เชี่ยวชาญ แล้วพัฒนาเป็น Specialized Developer ในด้านนั้น ๆ โดยที่ไม่ต้องเป็น Full Stack ได้เช่นเดียวกัน
เงินเดือนนักพัฒนาของแต่ละสายงานเป็นอย่างไรบ้าง ?
ในต่างประเทศอ้างอิงข้อมูลในปี ค.ศ. 2019 เงินเดือนนักพัฒนา Full Stack โดยเฉลี่ยอยู่ที่ $ 109,508 ต่อปี เมื่อเทียบกับ $ 71,130 ต่อปี สำหรับนักพัฒนาเว็บโดยทั่วไป ในขณะเดียวกัน แน่นอนว่าโดยเฉลี่ยแล้ววิศวกร Full Stack ทำรายได้อยู่ระหว่าง $ 107,000 – $ 145,000 ต่อปี ดังนั้นจึงมีพื้นที่เหลือเฟือที่จะเพิ่มเงินเดือนของคุณ เมื่อคุณมีประสบการณ์ทำงานที่มากขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดที่ควรรู้ก็คือ ในขณะที่เว็บไซต์บางแห่งมีรายชื่อนักพัฒนาเว็บ Full Stack มากกว่า 16,000 คน และยังมีรายการตำแหน่ง Front End มากกว่า 25,000 ตำแหน่ง และเงินเดือนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ $ 104,708 รวมถึงตำแหน่ง Back End ที่เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ $ 101,619 ต่อปี ซึ่งหมายความว่าคุณไม่จำเป็นที่จะจำกัดตัวเลือกในสายงานของคุณ เพราะในประเทศไทยเอง ทุกตำแหน่งล้วนเป็นที่ต้องการ โดยยิ่งมีประสบการณ์มาก คุณสามารถต่อรองเรื่องเงินเดือนให้ได้มากขึ้นตามความสามารถที่มี ดังนั้นจงมุ่งเน้นพัฒนาตนเอง เพิ่มทักษะและประสบการณ์ทำงานอยู่เสมอเพื่อเงินเดือนที่คุณต้องการ
เนื่องด้วยนิสัยของนักพัฒนา ไม่ว่าจะทำงานในสายงานไหนก็ตาม คุณต้องคอยหมั่นอัปเดตในเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพราะโลกในตอนนี้นั้นก้าวไกลและเติบโตอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้บางเทคโนโลยีเมื่อนำมาปรับใช้ในการเขียน จะช่วยให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้นการเข้าร่วมกลุ่มสังคม ต่าง ๆ ของนักพัฒนาไว้เพื่ออัปเดตข่าวสาร ยังเป็นอีกหนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดในการตรวจสอบข่าวสารใหม่ ๆ ในปัจจุบัน
และอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามอีกเช่นเดียวกันของนักพัฒนาเลยคือ อย่าลืมหมั่นพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตัวเองอยู่สม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้พัฒนาไปได้ไวกว่าคนที่รออ่านแต่ข้อมูลในไทยอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในเว็บไซต์ของต่างชาติแทบจะเป็นแหล่งข้อมูลหลักในการหาข้อมูลและมีเทคนิคใหม่ ๆ มาให้ได้เรียนรู้อยู่เสมอนั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิงจาก
FULL STACK, FRONT END, BACK END—WHAT DOES IT ALL MEAN?
สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ HTML5 (ตอนที่ 1)
คุณคือ Full Developer Overflow Developer หรือไม่?
Toolkit สำหรับ Full-Stack Developer
10 ทักษะที่ Front-end Developer ควรมี!
Backend Developer จำเป็นต้องเรียนรู้อะไรบ้าง ?
จบการศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ