5 เทรนด์ คลาวด์คอมพิวติ้ง ที่น่าสนใจในปี 2023

Thanatcha Veeravattanayothin/ February 3, 2023/ Knowledge Base/ 0 comments

คลาวด์คอมพิวติ้ง หรือ Cloud Computing เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วที่สุดในอุตสาหกรรมไอที ถึงแม้คลาวด์คอมพิวติ้งจะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่จำนวนการใช้งานยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงปีนี้ OpenLandscape จึงได้รวบรวมข้อมูล 5 เทรนด์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ คลาวด์คอมพิวติ้ง ในปี ค.ศ. 2023 มาให้คุณแล้วที่บทความนี้

ภาพประกอบ 1 รูป 5 เทรนด์ คลาวด์คอมพิวติ้ง

1. ขยับจาก Private Cloud สู่ Hybrid Cloud รองรับการเติบโตของธุรกิจ

มีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2570 Hybrid Cloud อาจมีมูลค่าสูงถึง 260 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 70 % ขององค์กรทั่วโลกจะประสบความสำเร็จจากการใช้ Hybrid Cloud และจากผลสำรวจโดย Red Hat Global Customer Tech Outlook ระบุว่า 30% ขององค์กรที่สำรวจมีกลยุทธ์ในการใช้ Hybrid Cloud และ 45% ได้มีการนำคลาวด์แพลตฟอร์มตั้งแต่ 2 แพลตฟอร์มหรือมากกว่านั้นมาใช้งานร่วมกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019

Hybrid Cloud คืออะไร? 

Hybrid Cloud คือ การใช้งานร่วมกันระหว่าง Public Cloud และ Private Cloud ซึ่งเป็นการนำข้อดีของทั้ง 2 รูปแบบมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เช่น การนำ Private Cloud เก็บเฉพาะข้อมูลภายในองค์กร และใช้ Public Cloud เพื่อการ Scale Out ให้ระบบรองรับผู้ใช้งานได้มากขึ้น สำหรับการประมวลผลในช่วงที่เกิด Workload Peak Time เป็นต้น

โดย Hybrid Cloud สามารถเชื่อมต่อ Public Cloud และ Private Cloud ด้วย VPN หรือ Private Link ที่สามารถจัดการได้ง่าย ซึ่งต่างจาก Multi Cloud ที่ผู้ดูแลระบบต้องจัดการเรื่องการใช้งานด้วย Console ควบคุมที่ต่างกัน

Hybrid Cloud เหมาะสำหรับธุรกิจที่เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วยการนำ Digital Transformation หรือเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้ในการวางรากฐานและดำเนินงานในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยบางองค์กรอาจใช้เพียง Private Cloud มาก่อนและขยายสู่ Public Cloud เพื่อนำมาปรับใช้กับทุกส่วนของธุรกิจ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ แต่รายละเอียดของ Cloud ทั้ง 2 แบบนั้นมีความต่างกันมาก ควรมีผู้เชี่ยวชาญช่วยปรับระบบให้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น รวมถึงควรมีการทดสอบระบบบ่อย ๆ เพื่อให้เกิดความเสถียรในการใช้งาน 

นอกจากนี้ Hybrid Cloud ยังรักษาความสามารถในการควบคุมระบบภายใน (Internal Control) โดย On-Premises หรือ Private Cloud ซึ่งเป็นระบบ IT Infrastructure ที่มีการติดตั้งใช้งานเองภายในองค์กร อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากการใช้ Public Cloud สำหรับการลดต้นทุน รองรับการเติบโตของธุรกิจได้ดีกว่า พร้อมทั้งยังเป็นลดความเสี่ยงในการดูแลรักษาความปลอดภัยจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงความยืดหยุ่นสูงในการจัดการและปรับขนาดได้ตามต้องการ 

Public Cloud คืออะไร ?

Public Cloud คือ คลาวด์ที่สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยมีผู้ให้บริการระบบคลาวด์เป็นผู้ตั้งระบบ Hardware และ Software เพื่อให้แต่ละองค์กรสามารถเช่าใช้บริการคลาวด์ โดยไม่ต้องลงทุนติดตั้ง Cloud Data Center ด้วยตนเอง ช่วยให้องค์กรสามารถลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการดูแลและค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ทางเทคนิคอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงใช้งานง่ายและมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือตลอดการใช้บริการ 

4 ประโยชน์ของการใช้ Public Cloud

  • ลดต้นทุนเรื่องค่าใช้จ่ายและช่วยประหยัดเงินได้มากขึ้น
  • ปรับเพิ่มหรือลดทรัพยากรได้ตามสะดวกตามแนวโน้มของธุรกิจ
  • ดูแลและจัดการระบบคลาวด์ด้วยทีมงานผู้เชี่ยวชาญ
  • มีระบบ Backup เพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูล

4 เหตุผลที่คุณควรหันมาใช้ Hybrid Cloud จากการใช้ Private Cloud

  • รวมข้อดีของ Private Cloud และ Public Cloud มาพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
  • ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูง
  • รองรับการปรับเพิ่มขนาดทรัพยากรได้ตามที่ต้องการ
  • มีความยืดหยุ่นสูง

ภาพประกอบ 2 รูป 5 เทรนด์ คลาวด์คอมพิวติ้ง

2. เพิ่มโอกาสสู่ความสำเร็จด้วยการนำ Kubernetes และ Docker บน คลาวด์คอมพิวติ้ง

การนำ Kubernetes และ Docker มาปรับใช้บนคลาวด์จะช่วยในเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรข้อมูลขนาดใหญ่ให้เป็นเรื่องง่าย เพราะ Kubernetes และ Docker มีแพลตฟอร์มสำหรับย้ายซอฟต์แวร์ในรูปแบบของแพ็กเกจ (Package) ที่เรียกว่าคอนเทนเนอร์ (Containers) ช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น !

Kubernetes คืออะไร ? 

Kubernetes หรือ K8s เป็น Open Source ที่ช่วยจัดการคอนเทนเนอร์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง สามารถจัดสรรทรัพยากรได้แบบอัตโนมัติ อีกทั้งยังช่วยให้แอปพลิเคชัน (Application) ที่ทำงานบนคอนเทนเนอร์สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องด้วยระบบ Auto Self-Healing

Docker คืออะไร ?

Docker คือ Software Container ที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมเฉพาะ เพื่อทำให้ซอฟต์แวร์สามารถทำงานได้ โดยไม่ไปรบกวนซอฟต์แวร์อื่น ๆ ในระบบปฏิบัติการเดียวกัน และยังสามารถจัดการและติดตั้งคอนเทนเนอร์บนคอมพิวเตอร์หรือเซิร์ฟเวอร์เครื่องอื่น ๆ และบนคลาวด์ได้เลยทันที โดยที่โปรแกรมยังทำงานได้ตามปกติ ไม่มีปัญหาอะไรมารบกวน 

5 ประโยชน์การนำ Kubernetes และ Docker มาปรับใช้บนคลาวด์มีอะไรบ้าง ?

  • มีประสิทธิภาพสูง
  • รองรับการเพิ่มทรัพยากรที่มีความยืดหยุ่นสูง
  • การปรับใช้ระบบอัตโนมัติบนคลาวด์
  • การแบ่งปันทรัพยากรที่ยืดหยุ่น
  • การปรับใช้ที่รวดเร็วและมีต้นทุนต่ำ

Docker เวอร์ชันล่าสุดมาพร้อมกับ Kubernetes ในตัว ทำให้สามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติและจัดการแอปพลิเคชันทั้งหมดในคอนเทนเนอร์ที่พัฒนาบนแพลตฟอร์ม Docker ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยให้ธุรกิจของคุณทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น ดังนี้

  • Docker เพิ่มความสะดวกในการปรับขนาดและใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ส่วน Kubernetes ให้ความยืดหยุ่นและควบคุมการใช้งานทั้งหมดได้ง่ายมากขึ้น
  • Docker ทำงานบน Single Server และ Kubernetes ถูกสร้างขึ้นเพื่อจัดการ Server Clusters หรือ การนำคอมพิวเตอร์ Server หลาย ๆ เครื่องมาเชื่อมโยงกันและให้ทำงานพร้อมกันโดยไม่มีปัญหา ซึ่งวิธีนี้ช่วยปรับปรุง Server ได้โดยไม่ต้องหยุดการทำงาน  
  • Docker สามารถใช้งานในรูปแบบ Client-Server และรองรับรูปแบบ Image ของตนเอง ส่วน Kubernetes ใช้ประโยชน์จากรูปแบบ Master-Slave และรองรับ Image หลายรูปแบบ 
  • Docker สามารถดำเนินการอินสแตนซ์เดียว (Single Instance) ของโปรแกรมสำเร็จ (Application Package) ส่วน Kubernetes สามารถทำงานได้หลายอินสแตนซ์ (Multiple Instances) ของโปรแกรมสำเร็จ
  • Docker สามารถทำงานร่วมกับการปรับใช้อัตโนมัติ (Auto-Deploy) และเรียกใช้แอปพลิเคชันภายในคอนเทนเนอร์ได้ ส่วน Kubernetes จะปรับใช้อัตโนมัติขณะที่จัดการแอปพลิเคชันคอนเทนเนอร์ทั้งหมดที่ข้าม Nodes
  • Docker สามารถบรรจุโปรแกรมสำเร็จทั้งหมดเป็นคอนเทนเนอร์ได้ง่ายและสะดวกต่อการเคลื่อนย้าย รวมถึงได้รับการช่วยเหลือจาก Kubernetes ในการปรับใช้แบบอัตโนมัติและการปรับขนาดได้ตามต้องการ
  • Docker มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ (Operating System) ในการควบคุมการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ส่วน Kubernetes เป็นระบบการปรับใช้รูปแบบ Parallel Deployment System ที่มีความสามารถในการจัดการคอนเทนเนอร์หลายตัวในเครื่องจำนวนมาก ให้ทำงานพร้อมกันได้อย่างต่อเนื่องและเต็มประสิทธิภาพ 

ภาพประกอบ 3 รูป 5 เทรนด์ คลาวด์คอมพิวติ้ง

3. ก้าวหน้าไปอีกขั้นด้วยการประมวลผล AI และ ML บน คลาวด์คอมพิวติ้ง

เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) และ ML (Machine Learning) เป็นอีกเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงที่สุดในยุคนี้ รวมถึงเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งที่มีแนวโน้มการใช้งานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้นในปี ค.ศ. 2023 เทรนด์ที่น่าจับตามองมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการรวมเทคโนโลยี AI และ ML มาใช้บน Cloud Computing 

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยกย่อง AI และ ML เป็นเทคโนโลยีสําคัญ ในการช่วยพัฒนาให้องค์กรก้าวหน้าไปสู่ความสำเร็จในอนาคต แต่ทั้งนี้การรับส่งข้อมูลของ AI ในรูปแบบเดิม ๆ อาจใช้ Bandwidth ค่อนข้างสูง ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่มีทรัพยากรที่พร้อมรองรับ AI และ ML ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้คลาวด์คอมพิวติ้งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาการประมวลผลข้อมูล เพื่อสร้างแพลตฟอร์ม (Platform) การเรียนรู้ข้อมูลของ Machine ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้การรวม AI และ ML เข้ากับคลาวด์คอมพิวติ้งจึงมีความสำคัญมาก อีกทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประโยชน์ที่สำคัญของการรวม AI และ ML มาทํางานบนแพลตฟอร์มคลาวด์นั่นเอง 

AI คืออะไร ? 

AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เป็นเครื่องจักร (Machine) ที่มีความสามารถในการทำความเข้าใจและเรียนรู้ข้อมูลต่าง ๆ เช่น การรับรู้, การเรียนรู้, การให้เหตุผล และการแก้ปัญหาต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งการเติบโตของธุรกิจ AI ต้องอาศัยความก้าวหน้าของ Chip, CPU (Central Processing Unit) และการพัฒนาอัลกอริทึม (Algorithm) รวมถึงกระบวนการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่พบเจอระหว่างการพัฒนา AI

นอกจากนี้เทคโนโลยี AI เช่น Deep Learning, Natural Language Processing และอื่น ๆ ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมมากมาย เช่น ด้านการแพทย์ ที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยและการดูแลสุขภาพ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการรักษาที่มากขึ้น หรือทางด้านธุรกิจ ที่ใช้ในการวางแผนเรื่องการขายสินค้า เพื่อเพิ่มรายได้และเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จ เป็นต้น นอกจากนี้การใช้ AI และ Data Analytics ร่วมกันจะยิ่งช่วยเพิ่มระดับการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ (Predictive Analytics) และการวิเคราะห์เชิงให้คำแนะนำ (Prescriptive Analytics) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ML คืออะไร ?

ML (Machine Learning) เป็นการสอนให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยใช้ข้อมูลหรือการสอนอัลกอริทึม (Algorithm) ให้เรียนรู้, ทำความเข้าใจ และตัดสินใจได้ด้วยตัวเองจากข้อมูลที่ป้อนให้

โดยการเรียนรู้ของ Machine มี 3 รูปแบบ คือ 

  • Supervised Learning หรือ การเรียนรู้โดยมี Data สอน ซึ่งสามารถเรียนรู้และทำนายผลลัพธ์จากการสอนของผู้ให้ข้อมูล (Data Scientist) 
  • Unsupervised Learning หรือ การเรียนรู้โดยไม่มี Data สอน เป็นการเรียนรู้และทำนายผลลัพธ์ ผ่านการจำแนกและสร้างรูปแบบจากข้อมูลที่เคยได้รับและนำมาเรียนรู้เอง ซึ่งหาก Machine สามารถทำนายผลลัพธ์จากชุดข้อมูลได้เป็นจำนวนมาก จะยิ่งเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ได้มากยิ่งขึ้น
  • Reinforcement Learning หรือ เรียนรู้ตามสภาพแวดล้อม เป็นแนวทางการเรียนรู้ของ AI ซึ่งมีลักษณะที่เหมือนการเรียนรู้ของมนุษย์ หรือการเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก เพื่อค้นหาแนวทางการรับมือปัญหาให้ดีที่สุด ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ธุรกิจ AI & Cloud Computing จะมีมูลค่าสูงถึง 13.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2026 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 20.3% ระหว่างปี ค.ศ. 2021 – 2026 ซึ่งมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างสูงจาก 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 2020 โดยองค์กรสามารถใช้ AI และ ML ร่วมกับคลาวด์คอมพิวติ้งในแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น การจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Management), การให้บริการงานธุรการทั่วไปหรืองานด้านเทคนิค รวมไปถึงงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ แบบมืออาชีพให้แก่ลูกค้า (Virtual Assistants), บริการ Reality-as-a-service และ ความปลอดภัยของแอปพลิเคชันบนคลาวด์ (Cloud-based Security for Applications) เป็นต้น


ภาพประกอบ 4 รูป 5 เทรนด์ คลาวด์คอมพิวติ้ง

4. ยกระดับความปลอดภัยของข้อมูลบนคลาวด์

การย้ายข้อมูลไปยังระบบคลาวด์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความสะดวกในการใช้งาน และสร้างโอกาสทางธุรกิจได้อย่างมหาศาล แต่บริษัทและองค์กรอาจต้องเผชิญกับภัยคุกคามด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์รูปแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ ส่งผลให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องสร้างความปลอดภัยของข้อมูลบนคลาวด์คอมพิวติ้งให้ถูกต้องและมีความปลอดภัยมากที่สุด

ดังนั้น การเพิ่มวิธีการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากหลายองค์กรอาจต้องการควบคุมค่าใช้จ่าย จึงหันมามองหาการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ประหยัดต้นทุนมากที่สุด แต่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุด เช่น การใช้ AI และเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับภัยคุกคามได้ก่อนเกิดปัญหา รวมไปถึงการใช้บริการ Security as a Service (SECaaS) หรือ บริการสำหรับการจัดการความปลอดภัยที่มีเพิ่มมากขึ้น ในปี ค.ศ. 2023 เช่น

  • Web Application Firewall (WAF) คือ บริการเพิ่มเกราะป้องกันให้ธุรกิจอย่างที่เหนือกว่าการใช้ Firewall โดยสามารถตรวจจับทุกกิจกรรมการใช้งานและป้องกันภัยคุกคามและไม่ทำให้การใช้งานระบบช้าลง
  • Log คือ บริการจัดเก็บ Log ตามการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ช่วยให้องค์กรสามารถจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในระบบเครือข่าย โดยไม่ต้องลงทุนจัดซื้อระบบเพื่อจัดเก็บ Log File
  • Vulnerability Assesement (VA) คือ บริการตรวจสอบและค้นหาช่องโหว่ทางด้านความปลอดภัยของระบบ เพื่อทำการแก้ไขก่อนเกิดความเสียหายร้ายแรงจากผู้ไม่ประสงค์ดี
  • Security Operations Center (SOC) คือ บริการเฝ้าระวังและรักษาความปลอดภัยขององค์กร ตรวจสอบการเข้าถึงเครือข่ายและระบบสารสนเทศต่าง ๆ ได้ตลอด 24*7
  • Penetration Test Black-Box/Grey-Box คือ บริการทดสอบการเจาะระบบ เพื่อค้นหาจุดอ่อนและประเมินความเสี่ยงในการเข้าถึงระบบต่าง ๆ ภายในองค์กรได้อย่างตรงจุด เพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยให้มากขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญ

ภาพประกอบ 5 รูป 5 เทรนด์ คลาวด์คอมพิวติ้ง

5. Cloud Gaming คลาวด์สำหรับสายเกมที่กำลังมาแรง  !

Cloud Gaming เป็นการเล่นเกมผ่าน Remote Server บน Cloud Server ซึ่งผู้เล่นสามารถสตรีม (Streams) เกมบนอุปกรณ์ของตนเอง ผ่านอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดเกมลงในอุปกรณ์ให้เปลืองพื้นที่ ต่างจากในรูปแบบเดิมที่เป็นการเล่นเกมบนอุปกรณ์สำหรับเกมนั้นโดยเฉพาะ เช่น PC, Console และ Mobile เป็นต้น 

โดยผลสำรวจจาก Exploding Topics เว็บไซต์รวมผลสรุปการค้นหาระบุว่า “Cloud Gaming” มีการค้นหาเพิ่มขึ้นถึง 1800% ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 – 2023 และผลสำรวจ Global Cloud Gaming จากเว็บไซต์ NEWZOO ผู้ให้ข้อมูลและการวิจัยผู้เล่นและการคาดการณ์ธุรกิจเกม ระบุว่าในปี ค.ศ. 2021 มีจำนวนผู้ใช้ประมาณ 21.7 ล้านคนที่ชำระเงินสำหรับการเล่นเกมบนคลาวด์ รวมเป็นมูลค่าประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี ค.ศ. 2024 รายได้ต่อปีของ Cloud Gaming คาดการณ์เพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า รวมเป็นมูลค่าถึง 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจำนวนผู้ใช้ที่ชำระเงินคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 58.6 ล้านคน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของธุรกิจ Cloud Gaming โดยเหตุผลสำคัญมาจากการขาดแคลน Chip ที่มีประสิทธิภาพรองรับกับคุณภาพเกมที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิต Console สำหรับการเล่นเกมรูปแบบเดิมเป็นอย่างมาก ทำให้การเล่นเกมโดยไม่ต้องใช้ฮาร์ดแวร์เฉพาะ (Hardware) จึงเกิดขึ้นมาในรูปแบบการเล่นเกมบนคลาวด์ ที่สามารถเล่นบนอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น สมาร์ตทีวี (Smart TVs), กล่องรับสัญญาณทีวี (TV Set-Top Boxes) และแท็บเล็ต (Tablets) เป็นต้น 

เมื่อความต้องการจากผู้ใช้ Cloud Gaming มีมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการช่วยเร่งให้ใช้เทคโนโลยีนี้มากขึ้นไปอีกในอนาคต และในงาน Consumer Electronics Show (CES) ในปี ค.ศ. 2022 หรืองานแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค ซึ่งรวมบริษัทชื่อดังเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกมากมายมาแสดงนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยภายในงานมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการที่รองรับการเล่นเกมบนคลาวด์ เช่น Samsung และ LG ประกาศรองรับ Google Stadia แพลตฟอร์มเกมบนคลาวด์ของ Google ที่สามารถเล่นบนสมาร์ตทีวีได้ เป็นต้น


คุณพร้อมนำ 5 เทรนด์คลาวด์คอมพิวติ้งในปี 2023 ไปใช้กับธุรกิจของคุณแล้วหรือยัง ?

การให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งมีหลายรูปแบบ รวมถึงมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาธุรกิจขององค์กร ควรเลือกรูปแบบคลาวด์ที่ตรงตามต้องการและมีความเหมาะสมกับธุรกิจ เพื่อการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและมีความมั่นคงในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อ OpenLandscape ได้ผ่านทางอีเมล technical-support@ols.co.th หรือ Call Center 02-257-7189 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


ข้อมูลอ้างอิง

https://explodingtopics.com/blog/cloud-computing-trends

https://explodingtopics.com/topic/cloud-gaming-1

https://www.forbes.com/sites/bernardmarr/2022/10/17/the-top-5-cloud-computing-trends-in-2023

https://www.itpro.co.uk/hybrid-cloud/29668/what-is-hybrid-cloud

https://medium.com

https://www.mindphp.com/

https://www.salika.co/2019

https://suyati.com/blog/watch-out-for-these-5-cloud-computing-trends-in-2023/

https://techsauce.co/tech-and-biz/ai-machine-learning-deep-learning-differences

https://www.thaiprogrammer.org/2018

https://www.turing.com

จบการศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>
*
*