OLS Community

คลื่นไหน ไปนานเวอร์! เรื่องคลื่นๆในยุค 4.0 บทเรียนจากรถไฟฟ้า

25-26-27 สามวันสุดระทึก ที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาวกรุงเทพ

ถือได้ว่าเป็นสามวันแห่งความทุกข์ของชาวกรุงเทพกันเลยทีเดียว ไม่มีใครลืม และจะจำไปอีกนานแสนนานแน่นอนค่ะ แม้ตอนนี้ขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้อยู่ เหตุการณ์นั้นได้สงบลงมากแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีหลายคนไม่เข้าใจว่าสามวันนั้นมันเกิดอะไรขึ้นกับรถไฟฟ้า? ตัวละครเยอะเเยะไปหมด แล้วเรื่องคลื่นทั้งหลายแหล่ที่เค้ายกมาพูดถึงกันก็ไม่เข้าใจอีกว่ามันคืออะไร?

ยังไงก็ขอให้บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความรู้ ควบคู่กับการยกเหตุการณ์จริงมาประกอบ เพื่อให้เข้าใจเรื่องระบบสัญญาณและความถี่ต่างๆที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มากขึ้น และสามารถนำข้อมูลความรู้ที่ได้ไปวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เองค่ะ

 เหตุเกิดในวันที่ 25 มิถุนายน 2561

ทั้งที่โดยปกติแล้ว มันควรจะเป็นเช้าวันจันทร์แห่งชาติอันแสนสดใสของชาวกรุงเทพ แต่แล้วจู่ๆก็เหมือนโดนปลุกให้ตื่นจากฝัน ทันทีที่ Account Twitter หลักของ BTS ได้มีการอัพเดททวิตว่า  “ขบวนรถล่าช้า ระบบอาณัติสัญญาณเกิดขัดข้อง”

และหลังจากทวิตนี้ถูกแพร่ออกไป สิ่งที่ทุกคนสงสัยพร้อมๆกันโดยมิได้นัดหมายคือ…

 ระบบอาณัติสัญญาณ คืออะไร?

‘ระบบอาณัติสัญญาณ’ นั้นมีไว้ควบคุมระบบการเดินรถ และสั่งการระหว่างกัน จำง่ายๆแบบนี้ได้เลย ซึ่งการที่มันขัดข้อง หมายความว่า มันไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้นั่นเองค่ะ ทำให้เราต้องหยุดเดิน อารมณ์เหมือน Signal Lost เหมือนตอนเรารอยูทูปโหลด พอสัญญาณขาด มันก็จะหยุดคลิปไว้ แล้วขึ้นเป็นวงกลมวิ่งๆ เบื้องต้นทาง BTS ก็เปลี่ยนมาควบคุม Manual เอง ซึ่งทำให้ระบบการจราจรระหว่างสถานีช้าลงกว่าการใช้ระบบอัตโนมัติอย่างแน่นอน


 กำเนิดเป็น hashtag ในตำนาน #ยกเลิกสัมปทานbts

หลังจาก BTS ทวิตมาแบบนั้น คนกรุงเทพเริ่มมองหน้ากันเลิ่กลั่กละ รถไฟฟ้าดันมาเสียตั้งแต่ 6 โมงเช้าของวันจันทร์ แฮปปี้มันเดย์มากๆเลยทีเดียว ซึ่งดันเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต่างต้องรีบออกไปทำมากินกันซะด้วย บีทีเอสก็เลยได้รับคำอวยพรตามช่องทางโซเชี่ยลต่างๆกันอย่างล้นหลาม มีทั้งแบบฮาๆและมาเพื่อสาปแช่ง

แน่นอนว่าเพจดังอย่างอีเจี๊ยบก็ออกมาร่วมบ่น นี่รถไฟฟ้าหรือแกงกะทิ

ถึงกับเปลี่ยนชื่อสถานีให้เลยนะจ้ะ แบบนี้ก็ดูเข้าที

เดี๋ยวก่อนสังคม! นั่นเพจ B2S!!

 ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว!

แต่ความงงนั้นมีเยอะมากค่ะ..  โดยหลังจากที่ผู้เขียนได้ทำการติดตามข่าวนี้มาระยะหนึ่ง และพยายามค้นหาเบาะแสต่างๆ ว่าสาเหตุของการขัดข้องมันเกิดมาจากอะไรกันแน่? ตัวผู้เขียนเองก็รู้สึกงงๆอยู่ดี ซึ่งก็ได้เห็นจากการที่ต่างฝ่ายต่างก็ออกมาโต้กันไปโต้กันมา (โต้ยังกับแข่งวอลเลย์บอลอยู่) ดังนั้น…เพื่อให้ทุกคนค่อยๆเข้าใจเรื่องราว ผู้เขียนขอทบทวนเหตุการณ์เหล่านี้เป็นสามยกดังนี้ค่ะ

ยกที่หนึ่ง:

BTS หงายการ์ดใบแรก บอกสังคมว่า ที่ตัวฉันขัดข้องนั้น เป็นเพราะสัญญาณ DTAC-Turbo ที่เพิ่งเปิดให้ลูกค้าใช้บริการ มากวนกับระบบอาณัติสัญญาณของตัวเอง

– – – –

ยกที่สอง :

DTAC สวนกลับในแฟนเพจของตัวเอง โดยบอกว่าน้องเทอร์โบไม่เกี่ยวนะคะคุณพี่ขา คุณพี่หยุดมโนก่อน!! น้องก็แค่ใช้คลื่นตามสิทธิ์ที่ได้ไปประมูลมาอะ จ่ายมาเองจ้ะ! น้องผิดตรงไหน! แล้วถ้าเกิดพี่ยังไม่เชื่ออีก งั้นน้องระงับสัญาณ 2300 MHz ให้เลยก็ได้

หลังจากนั้น DTAC ก็ระงับจริงอะไรจริงจ้า ควักหัวใจออกมา เอาออกมาพิสูจน์กันไปเล้ย!

– – – –

ยกที่สาม :

หลังจาก DTAC ระงับสัญญาณ 2300 MHz แต่ BTS ก็ยังขัดข้องอยู่… (จังหวะซิทคอมมากๆจ้ะ) กสทช ก็เลยต้องรีบเรียกทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือด่วน ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ (สักทีจ้ะ) และสุดท้ายได้ข้อสรุป พร้อมทั้งทางแก้ปัญหา โดย BTS ให้สัญญาว่าจะแก้ปัญหาแล้วเสร็จในวันที่ 29 มิถุนายน 2561 Happy Ending (เหรอ)~

– – – –


จากเหตุการณ์ทั้งหมด ขอสรุปเป็นข้อมูลไว้ดังนี้ค่ะ
[1] ระบบอาณัติสัญญาณ BTS ใช้คลื่นอะไร?

หลายคนอาจจะตอบแทนในใจไปแล้วว่าพี่แกอาจจะใช้คลื่นเต่าหรือเปล่า เพราะพี่แกรวนๆเลทๆเหลือเกิน ที่สำคัญคือบอกซ่อม 10 นาทีแต่หายไปไม่เคยต่ำกว่าชั่วโมง จนคนล้นชานชลาแล้วล้นชานชลาอีก ถ้าล้นกว่านี้อีกนิดก็สามารถซ้อมเกิดใหม่เป็นปลาสวายวัดบางบ่อได้แล้วจ้า

“หนึ่งนาทีของเราไม่เท่ากัน” พี่เจมส์ได้กล่าวไว้


ต้นเหตุเกิดจาก BTS นั้นได้เปลี่ยนมาใช้ “Bombadier” ซึ่ง
เป็นระบบอาณัติสัญญาณที่มาแทนระบบเก่าของ Siemens โดยตัวระบบนี้ จะสื่อสารกันผ่านคลื่นย่าน 2400 MHz ขึ้นไป

ซึ่งตัวคลื่น 2.4 GHz(=24000 MHz) และคลื่น 5 GHz เป็นอันรู้โดยทั่วกันทั้งหมู่บ้านว่ามันคือคลื่นสาธารณะนะจ้ะพี่น้อง แม้แต่ wifi ที่บ้านพี่ก็ใช้คลื่นนี้จ้า และแน่นอนว่าการเป็นคลื่นสาธารณะนั่นหมายความว่าย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆทั้งนั้นจ้ะ ไม่ได้ประมูลมาเนอะ ใครอยากใช้ก็ใช้ ดังนั้นหากเกิดปัญหาคลื่นรบกวนกันผู้ใช้คลื่นต้องรับผิดชอบเองนะยู

แหม…คือคลื่นย่าน 2400 MHz ที่ BTS เลือกใช้ให้รถไฟสื่อสารกัน ก็เป็นคลื่นที่มีคนใช้ด้วยไม่เยอะเลยจ้ะ
ก็แค่ใช้การเชื่มต่อ WIFI, Bluetooth และ Microwave Link แม้แต่โดรนก็ใช้ย่านความถี่นี้เหมือนกัน
…อ้าว ก็เกือบครบทุกอย่างแล้วนี่นา อิอิ

ตอบปัญหาที่ค้างคาใจ

[2] คลื่นของ DTAC TURBO
ไปกวนกับระบบของ BTS จริงหรือ ?

DTAC Turbo ได้เปิดให้ลูกค้าเริ่มใช้งานที่คลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz
บนแบนด์วิดท์ที่กว้างถึง 60 MHz (2310 – 2370 MHz)
ซึ่งก็เกือบๆจะโดน 2400 MHz แต่ถ้ามาลองดูดีๆแล้ว มันก็ห่างกันตั้ง 30 MHz
และถือว่าห่างพอจะไม่ซ้อนทับกันอยู่ดี

ข้อมูลจาก กสทช.

ในเมื่อความถี่ห่างกันตั้ง 30 MHz แต่ทำไมถึงไปกวนกันได้ ?

จากผลการหารือร่วมกันเพื่อหาสาเหตุ กสทช ได้สรุปไว้ว่า…

แม้ดูจากทางเทคนิคแล้วไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไร แต่ด้วยทางบีทีเอสเองดันใช้ระบบที่ค่อนข้างเก่าด้วย  ตัวอุปกรณ์สื่อสารในระบบอาณัติสัญญาณ อาจจะเปิดรับสัญญาณกว้างเกินไปจากที่ตั้งไว้ จึงทำให้เกิดการลงมารับสัญญาณคลื่น 2300MHz(ปลายๆ) ของ DTAC เข้าไปใช้ด้วย

ก็จับใจความได้ประมาณว่า…ตั้งไว้ 24000 MHz ขึ้นไป แต่ระบบเก่ามาก แถม BTS  เองก็ไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการรบกวนสัญญาณด้วย ค่ามันก็เลยเป็นไปได้ที่จะ swing ลงมาที่ 2300 MHz ปลายๆ ของดีแทคที่เพิ่งเปิดให้ใช้บริการพอดี จึงทำให้เกิดการกวนกันของสัญญาณขึ้นมาซะงั้น

ข้อมูลจาก กสทช.

“ง่ายๆคือ  DTAC เขาก็ประมูลคลื่นมา ปล่อยสัญญาณตาม Range ปกติที่ประมูลมา แต่ดันงานเข้าไปกับเค้าด้วยซะงั้น”

 สรุปแผนที่จะใช้ในการแก้ปัญหาคืออะไร?

หลังจากหารือร่วมกัน กสทช. จึงมีข้อสรุป ให้ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ย้ายไปใช้คลื่นความถี่ช่วง 2485-2495 MHz แทน อารมณ์ประมานว่า ออกไปเสียเถิด ไปให้ไกลๆสายตา ฮ่าๆๆ สัญญาณก็จะห่างกันมากขึ้น ประมาณภาพนี้

[3] สิบปากว่าไม่เท่าศึกษาเอง!
มาทำความเข้าใจ แล้วลองเก็บไปวิเคราะห์กันดู

ในเมื่อฟังเค้าเถียงกันไม่รู้เรื่องสักที ผู้เขียนเลยตัดสินใจหาข้อมูลเองค่ะ จากหลายๆด้าน หลายๆมิติที่สามสี่และห้า ประกอบกันเป็นข้อมูลความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคลื่นความถี่แบบต่างๆที่มีอยู่ตอนนี้ และสรุปมาให้ผู้อ่านได้ดังนี้ค่ะ

 Back to Basic!
มาทำความรู้จักกับ คลื่นวิทยุ (Radio Frequency)
ในรูปแบบต่างๆกันก่อน

‘คลื่นวิทยุ’ เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่สูง คุณสมบัติของคลื่นวิทยุนี้สามารถกระจายไปได้เป็นระยะทางใกล้หรือใกลนั้น ก็ขึ้นอยู่กับช่วงความถี่ ยิ่งความถี่ต่ำ ยิ่งส่งได้ดี ส่งไปได้ไกล ส่งได้ทะลุทะลวง ต่างกับความถี่สูง ที่มีความแรงมากก็จริง แต่ส่งได้ไม่ไกล อ้างอิงตามสูตรนี้ค่ะ

“ความยาวคลื่น = ความเร็วแสง / ความถี่ (ความเร็วแสงมีค่าประมาณ 3×108 m/s)”

สัญญาณเหล่านี้ถูกปล่อยโดยเสาอากาศจากเสาส่งสัญญาณมือถือตามจุดต่างๆ ซึ่งจริงๆแล้วคลื่นวิทยุพวกนี้มีทั้งแบบมีสายและไร้สายค่ะ ในที่นี้เราจะพูดถึงแบบไร้สายที่เป็นประเด็นก่อน การตั้งเสาสัญญาณพวกนี้ก็ขึ้นอยู่กับ ความยาวของคลื่นเช่นกันค่ะ ความถี่สูง ระยะสั้น ต้องตั้งเสาสัญญาณถี่ขึ้น แต่แลกมาด้วยความเร็ว

ภาพนี้แสดงความยาวของคลื่นในย่านความถี่ต่างๆ ยิ่งความถี่น้อยยิ่งไปได้ไกล

แต่ปัญหาหลักของคลื่นแบบ Wireless (ไร้สาย) ที่ต่างจากแบบ Wired(มีสาย)
ก็คือ
มีการรบกวนกันของสัญญาณ (Interference) สูง
ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทําให้เกิด Transmission Error 
คือการส่งสัญญาณเกิดขัดข้องนั่นเอง

 ประเทศไทยมีคลื่นสัญญาณย่านไหนบ้าง?

โดยปกติแล้ว การแบ่งความถี่ที่จะเปิดให้ใช้บริการ อาจจะมีแตกต่างกันไปตามกฎหมายในแต่ละประเทศ
(เช่นมีการห้ามนําอุปกรณ์บางอย่างไปใช้ข้ามประเทศ)

ซึ่งหลักๆตอนนี้ที่ประมูลและใช้กันอยู่ก็จะมี 850 / 900 / 1800 / 2100  และน้องใหม่ 2300 MHz

โดยแต่ละช่วงความถี่ก็จะมีอุปกรณ์ที่รองรับแตกต่างกัน รุ่นเก่าๆก็จะรับได้ที่ความถี่ต่ำๆ ส่วนรุ่นใหม่ๆถ้าออกภายใน 2-3 ปีนี้ ส่วนใหญ่ก็จะรับ 2300MHz ได้แล้วค่ะ

(source: https://droidsans.com/nbtc-confirm-bts-2400mhz/)

 ทั้งหมดนี้คงจะเป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์โดยการศึกษาจากทฤษฎี
ที่แสดงให้เราเห็นค่อนข้างชัดเจน

เราเองก็อาจจะพอสังเกตเองได้ว่า.. หลังจากรถไฟฟ้า BTS เริ่มเปลี่ยนมาใช้สัญญาณย่าน 24000 MHz ที่เป็นคลื่นสาธารณะ มันก็เริ่มเกิดอาการงอแง ขัดข้องบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเทคโนโลยีก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เสาสัญญาณก็วางถี่ขึ้นทุกวันๆ คนก็ใช้อินเตอร์เน็ต แลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านสัญญาณแบบไร้สายกันมากขึ้นเช่นกัน แถมสถานีบีทีเอสก็ตั้งอยู่ในเมืองที่เจริญๆ มีการใช้สัญญาณกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง อาทิ สุขุมวิท  สีลม และสยาม

ทั้งนี้…ปัญหาที่เกิดไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังสักที มันก็เริ่มสะสมขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาระเบิดตู้มเอาตอน DTAC มาเปิดใช้คลื่นที่ใกล้เคียงนี่แหละค่ะ

ขออนุญาตอ้างอิงจากสถิติอัตราการเสียของรถไฟฟ้า…

ขอบคุณ infographic จาก ไทยรัฐออนไลน์

“จะเห็นว่าปัญหาเริ่มเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตของเทคโนโลยี และปัญหาที่เกิดมักจะเกิดในช่วงที่มีคนเยอะๆ หรือนั่นอาจจะหมายถึงมีการใช้สัญญาณพร้อมกันเยอะๆ จนเกิดการรบกวนกัน ไม่ว่าสุดท้ายแล้วสาเหตุจะเกิดจากสัญญาณจริงหรือไม่ แต่การจะบอกว่า บีทีเอสใช้คลื่น 2400MHz ซึ่งเป็นคลื่นสาธารณะในการทำระบบขนส่งนั้น ถือเป็นเรื่องที่ควรได้รับการแก้ไขอยู่ดีค่ะ (ซึ่งขณะที่เขียนน่าจะแก้ไขเสร็จแล้วตามแผนทีแถลงข่าวไว้ ) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น…สุดท้ายแล้วปัญหานี้อาจจะไม่ได้เกิดเพราะคลื่นสัญญาณแค่เพียงอย่างเดียวก็เป็นได้ อาจจะมีปัจจัยร่วมอื่นๆอีกมากมาย เพียงแต่เราสามารถยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่า คลื่นสัญญาณก็มีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหานี้แน่นอนค่ะ 

Source:
[1]  [2] [3] [4] [5] [6]

ติดตามข่าวสารใหม่ๆ หรือข้อมูลน่ารู้อีกมากมายได้ที่

  OpenLandscape Fanpage | https://www.facebook.com/openlandscapecloud/
  OpenLandscape Twitter | https://www.twitter.com/olscloud/
  OpenLandscape Cloud | https://openlandscape.cloud/