Blockchain เทคโนโลยี ที่อาจเป็นคำตอบของการเลือกตั้งในอนาคต
ในปัจจุบันการเลือกตั้งในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยยังใช้องค์กรอิสระเป็นผู้ดำเนินการการเลือกตั้งตั้งแต่การจัดวางระบบ จัดเก็บข้อมูล รวมไปถึงการรวบรวมผลการเลือกตั้ง การดำเนินการโดยระบบนี้มีผลเสียอยู่พอสมควร เช่น ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบผลการเลือกตั้งและทราบผลได้ในทันที เนื่องจากผลการลงคะแนนนั้นถูกรวบรวมไว้ที่เดียว และต้องรอการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้วเท่านั้นผลจึงจะชัดเจน ซึ่งข้อเสียดังกล่าวนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาการรวบรวมข้อมูลที่ผิดพลาด การถูกโจมตีโดยผู้ไม่หวังดี หรือความไม่โปร่งใส ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดคอร์รัปชันได้ วันนี้เราเลยอยากจะพาทุก ๆ คนมาทำความรู้จักกับเทคโนโลยี Blockchain ที่หลายคนพูดถึงว่าสามารถนำมาช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ แต่จะแก้ได้จริง ๆ หรือไม่ เราลองมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันดีกว่าค่ะ
Blockchain เทคโนโลยี ที่อาจนำมาแก้ปัญหาการเลือกตั้งแบบเดิม ๆ ได้
หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูคุ้นตากับเทคโนโลยีนี้กันสักเท่าไรนัก เพราะเทคโนโลยีนี้ยังใหม่อยู่มาก ซึ่งคุณลักษณะเฉพาะของ Blockchain คือสามารถสร้างความปลอดภัยให้กับข้อมูล และช่วยให้เกิดความโปร่งใสได้ โดยพื้นฐานแล้ว Blockchain คือระบบการจัดเก็บข้อมูลรูปแบบหนึ่ง มีความพิเศษตรงที่ไม่ว่าจะมีใครส่งผ่านข้อมูล หรือทำธุรกรรมใด ๆ ก็ตาม ทุกคนจะทราบและรับรู้ข้อมูลเท่าๆ กัน ทำให้การโกง หรือบิดเบือนข้อมูลนั้นเป็นไปได้ยากมาก ๆ ค่ะ
จากรูปภาพด้านบน ในส่วนของรูปทางด้านซ้ายเป็นระบบในรูปแบบเก่าจะเห็นได้ว่าโครงข่ายข้อมูลจะถูกส่งผ่าน และเก็บรวบรวมไว้ที่ส่วนกลางแต่เพียงผู้เดียว ทำให้ยากแก่การตรวจสอบ ถูกโจมตีง่าย และอาจถูกบิดเบือนได้ ในขณะที่รูปทางด้านขวาซึ่งเป็นระบบการทำงานแบบ Blockchain จะเป็นการส่งผ่านแบบกระจายข้อมูลให้ทุกคนรับทราบทั่วถึงกันโดยไม่ต้องผ่านศูนย์กลาง ทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบ ทั้งยังสามารถป้องกันการถูกโจมตี และถูกบิดเบือนข้อมูล
หากเราจะนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการเลือกตั้ง เราสามารถทำได้ด้วยการออกแบบเป็นแพลตฟอร์ม หรืออุปกรณ์เทคโนโลยี เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมโหวตคะแนน และตรวจสอบผลการเลือกตั้งได้ ซึ่งแต่ละผลโหวตจะถูกเข้ารหัสข้อมูล Timestamped ไว้ แล้วกระจายข้อมูลเข้าสู่ระบบแบบไม่ผ่านศูนย์กลาง ด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านหลาย ๆ Node บน Network ทำให้ให้ยากต่อการปรับเปลี่ยนข้อมูล ผลคะแนนที่ออกมานั้นจึงมีความถูกต้องและเที่ยงตรง
นอกจากการโหวตคะแนนแบบ Blockchain จะเปิดให้ผู้มีสิทธิ์โหวตสามารถตรวจสอบผลคะแนนได้แล้ว Blockchain ยังทำให้ผู้ใช้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลส่วนอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น สามารถตรวจสอบได้ว่าคะแนนที่เพิ่มมานั้น คนลงคะแนนได้ลงคะแนนตอนไหน หรือสามารถรู้ได้ว่าตอนนี้เรากำลังเชื่อมต่อกับใครบ้าง ซึ่งก่อนการโหวตผู้ใช้จะต้องทำการยืนยันตัวตนโดยใช้หลักฐานที่น่าเชื่อถือ เช่น บัตรประชาชน การพิมพ์ลายนิ้วมือ เป็นต้น จากนั้นข้อมูลเหล่านี้จะถูกเข้ารหัส ทำให้ตัวตนของบุคคลดังกล่าวไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ หรือเพื่อป้องกันการถูกกดดัน และข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐบาล
แต่…การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการโหวตยังคงมีข้อจำกัดอยู่
ฟังดูดีใช่มั้ยคะ แต่เดี๋ยวก่อน ถึงแม้จะมีความเป็นไปได้ที่จะนำ Blockchain มาใช้ได้ในการเลือกตั้ง แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดอยู่บางส่วนที่สร้างความท้าทายให้กับการนำมาปรับใช้อยู่เหมือนกัน อย่างแรกเลยหากนำ Blockchain มาปรับใช้จะต้องให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience) ที่ต้องออกแบบให้ผู้มีสิทธิ์โหวตสามารถเข้าถึงและเข้าใจการใช้งานได้ในทันที อาจทำได้ด้วยการออกแบบแอปพลิเคชันผ่านมือถือ หรือพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถใช้โหวตได้ เป็นต้น
นอกจากนี้หากใช้เป็นระบบ Private Blockchain การที่ระบบจะต้องเปลี่ยนข้อความให้เป็นรหัส จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีระบบประมวลผลสูงมาก อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงตามไปด้วย ทั้งยังมีช่องว่างอื่น ๆ อีก เช่น การสวมรอยตัวตนเพื่อลงคะแนนแทนในระบบ การถูกเจาะระบบ หรือการปรับแต่งข้อมูลผ่าน Hardware หรือ Software ที่ทางผู้จัดตั้งสามารถทำได้ก่อนการเข้าใช้สิทธิ์เพื่อบิดเบือนข้อมูล เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้เป็นโจทย์สำคัญหากเราจะนำ Blockchain มาใช้ เราจะต้องคำนึงถึง และวางแผนเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาเหล่านี้ที่อาจะเกิดขึ้น
แต่ถึงจะมีข้อจำกัด แต่ก็มีบางประเทศที่เอาไปทดลองใช้เหมือนกัน
ถึงแม้การนำ Blockchain มาใช้จะมีข้อจำกัดอยู่มาก แต่ก็มีบางประเทศที่เริ่มนำ Blockchain มาพัฒนาใช้งานกันบ้างแล้ว อย่างการเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2018 ที่รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นรัฐแรกที่ทดลองใช้การโหวตออนไลน์ สำหรับทหารและพลเมืองที่อาศัยอยู่นอกประเทศให้สามารถเข้ามาโหวตได้ ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือชื่อ Voatz ในการโหวตนั้นผู้มีสิทธิ์โหวตจะต้องยืนยันตัวตนด้วยการพิมพ์ลายนิ้วมือ ก่อนทำการโหวต จากนั้นผลโหวตดังกล่าวจะถูกบันทึกเข้าสู่ Private Blockchain ซึ่งผลการเลือกตั้งโดยรวมก็ออกมาด้วยดี และทำให้เกิดข้อถกเถียงอย่างกว้างขว้าง
รูปภาพจาก : Angel
อีกหนึ่งหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ แม้จะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งทางการเมืองโดยตรง คือในช่วงปลายเดือนสิงหาคมปี 2018 ที่เมืองสึคุบะ (Tsukuba) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเมืองที่โดดเด่นในเรื่องของการวิจัยหุ่นยนต์และวิทยาศาสตร์ ได้มีการทดลองนำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้กับระบบลงคะแนนเสียง เพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ภายในเมือง
โดยผู้ใช้สิทธิ์สามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยการใช้บัตรประชาชนของตัวเองมาใช้ยืนยันตัวตน และสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของทางการที่ชื่อว่า Stated ได้ เพื่อทำการลงคะแนนเสียงสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมต่าง ๆ ซึ่งผู้ใช้สิทธิ์สามารถโหวตคะแนนให้กับโครงการใด ๆ ก็ได้ที่ตนรู้สึกว่าคุ้มค่ากับการลงทุนและสนับสนุนมากที่สุดตั้งแต่โครงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อตรวจหามะเร็ง ไปจนถึงโปรแกรมเสียงนำทางในเมือง หรือการคิดค้นอุปกรณ์ใหม่ ๆ สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง เป็นต้น ซึ่งการทดลองดังกล่าว ที่ได้นำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้ก็ได้ผลที่น่าพอใจและเกิดความโปร่งใสในการโหวต ทำให้ลดการโกงในการลงคะแนนไปได้มาก
นอกจากสองประเทศนี้แล้วยังมีประเทศอื่น ๆ ที่เริ่มนำเทคโนโลยี Blockchain มาพัฒนาและปรับใช้ในการลงคะแนนเสียงอย่าง เอสโตเนีย (Estonia) ที่นำมาใช้ในการโหวตเสียงภายในร้านค้า, เมืองซุก (Zug) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (Switzerland) ที่นำ Blockchain มาใช้ในการลงเสียงโหวตในทุกโครงการของเมือง เป็นต้น
สรุป
เรียกได้ว่าเทคโนโลยี Blockchain เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจเลยทีเดียวใช่มั้ยคะ แต่ถึงแม้จะดูเหมือนว่าการนำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้ในการการเลือกตั้งจะดูมีความเป็นไปได้ในอนาคต แต่อย่าลืมว่า Blockchain เป็นเพียงแค่เครื่องมือหนึ่งเท่านั้น หากคนที่เอาไปใช้นำมาใช้ในทางที่ผิดและไม่มีความซื่อสัตย์พอก็สามารถใช้ช่องว่างปรับปรุงแก้ไขระบบเพื่อหาประโยชน์ได้เช่นเดียวกันค่ะ
ที่มา
Is Blockchain The Answer To Election Tampering?
Blockchain and Elections: The Japanese, Swiss and American Experience.
Blockchain and Elections: A Review of the Current Landscape.